อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ร่วมแชร์ประสบการณ์เส้นทางสู่ความสำเร็จ ในงาน Gen Will Survive โดยมูลนิธิเอสซีจี
เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคสมัยปัจจุบัน ทำให้ชีวิตของใครหลายคน เต็มไปด้วยการต่อสู้ ดิ้นรน แข่งขัน เพื่อพาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น การเอาตัวรอดโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากเอาตัวรอดในยุคนี้ไม่ได้ ชีวิตลำบากแน่นอน
มูลนิธิเอสซีจี จึงได้เชิญเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ เพื่อถ่ายทอดแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าฟัง ในงาน Gen Will Survive เมื่อวันก่อน โดยมี เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ นัก Podcast ชื่อดังระดับประเทศ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ The Standard ที่มาให้แรงบันดาลใจ พร้อมด้วยเหล่า Survivors ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในครั้งนี้ มิว-ศุภศิษฎ์ จงชีวีวัฒน์ นักร้อง นักแสดงสุดฮอต ผู้มากความสามารถ ที่ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง แห่งบริษัท SOL SKIPPER ฝน-ทัตชญา ศุภธัญสถิต หรือ MonsterFon ครีเอทีฟ & โปรดิวเซอร์มือทอง ฝีปากกล้า ตัวตึงของวงการ ที่วินาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จักเธอ และ เอแคลร์ จือปาก เจ้าของเพจและยูทูปเบอร์สายกิน สายเที่ยว สายความงาม ตัวแม่ ผู้มีเรื่องราวการเอาตัวรอดที่สุดแสนประทับใจ จากเด็กตัวเล็กๆ ที่ได้ต่อสู้ ฝ่าฟัน จนทำให้ความฝันเป็นจริงได้ในฐานะ ยูทูปเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ บิวตี้บล็อกเกอร์ เจ้าของเพจชื่อดัง “จือปาก” โดยมี วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา พิธีกรฝีปากคม ผู้ก่อตั้งวู้ดดี้ เวิลด์ และ ตั้ม-วราวุธ โพธิ์ยิ้ม ศิลปินพิธีกรชื่อดัง ร่วมกันเป็นผู้ดำเนินรายการ
เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าชีวิตควรเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่โลกที่เปลี่ยนไปทำให้การใช้ชีวิตซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ต้องก้าวอยู่ตลอดเวลา เหมือนบันไดเลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับผู้มากมาย เขาได้ถอดรหัสของความสำเร็จนี้ออกมาเป็น 4P ได้แก่
Passion ให้โอบกอดความล้มเหลวแล้วตามหาความฝันหรือสิ่งที่ตัวเองชอบ
Professionalism ขยายความเชี่ยวชาญของตัวเองแล้วทำให้ตัวเองโดดเด่นที่สุด
Purchaser Inside เปลี่ยนทักษะให้เป็นรายได้ เพราะมันคือความยั่งยืนของตัวเราเอง
Purpose การจะเปลี่ยนโลกไม่ต้องรีบ ค่อยๆ ก้าวทีละก้าว
“ชีวิตเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงาน ทำงานเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต อีกด้านนึงของชีวิต อย่าลืมให้ความสำคัญมันจนลืมคนรอบข้าง ส่วนตัวแล้วไม่เชื่อเรื่องของ Work Life Balance เพราะมันยากเกินไปที่จะรักษาสมดุลตลอดเวลา และจังหวะชีวิตแต่ละช่วงมันก็ไม่เหมือนกัน แต่เชื่อในเรื่อง The Flow of Life เวลา เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด และพลังงานในตัวเรา ก็สำคัญมากเช่นกัน เราจะให้น้ำหนักอะไรกับสิ่งไหน นั่นคือเราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ส่วนตัวแล้ว ให้ความสำคัญในเรื่องเวลาและพลังงานกับ Work-Health-Play-Love คือการทำงาน -การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเพื่อจิตใจจะได้แข็งแกร่ง-การมีเวลาสำหรับงานอดิเรกหรือความสนุกในชีวิต-และความรักความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อน พ่อ แม่ คนรัก สัตว์เลี้ยง เพื่อนร่วมงาน หรือสังคม”
ด้านเหล่า Survivors ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเอาตัวรอด มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ กล่าวถึงมุมมองในการอยู่รอดของตนว่า “ครอบครัวของตนเป็นคนรุ่นเก่า ในเรื่องการเรียนก็กำหนดมาว่าต้องเรียนแค่หมอหรือ วิศวะเท่านั้น ในขณะที่ตัวเองชอบศิลปะมากกว่า และได้พบกันครึ่งทางโดยยอมเรียนวิศวะทั้งที่ไม่เก่งฟิสิกส์ และต้องหาวิธี “รอด” ให้ได้ทั้งที่ไม่ชอบและไม่ถนัด ด้วยการเลือกเรียนสาขาอุตสาหการ เพราะเน้นด้านบริหารมากกว่าฟิสิกส์ และช่วงที่เรียนก็เริ่มรับงานบันเทิง ทำให้สนุกเพราะทำงานแล้วได้เงิน จึงต้องแข่งกับตัวเองในความรู้สึกที่จะต้องเรียนให้จบ จึงเต็มที่กับการเรียนและตั้งใจกับการสอบในแต่ละครั้ง รวมถึงการบริหารเวลาในการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ ไปพร้อมกับการแบ่งเวลาทำงานในวงการบันเทิงไปในเวลาเดียวกัน”
“มิว” ยังบอกอีกว่า เมื่อได้ตัดสินใจที่จะต้อง “รอด” สิ่งที่เห็นในชีวิตของตนเอง และสำคัญมากๆ คือเรื่องของการปรับตัว เพราะการทำงานส่วนใหญ่ต้องเจอคนที่มีความหลากหลาย การศึกษา สังคม และประสบการณ์ ที่แตกต่างกัน ทำให้เราไม่สามารถทำงานด้วยวิธีเดียวหรือแบบเดียวกับทุกๆ คนได้
หากต้องเลือกคนมาร่วมงานด้วย “มิว” บอกว่า นอกจากคุณสมบัติของแต่ละตำแหน่งแล้ว เขาอยากได้คนที่มีความสนุกกับการทำงาน เมื่อบรรยากาศดี ก็จะทำงานได้อย่างเต็มที่ พร้อมให้คำแนะนำคนที่สมัครงานว่า ควรสำรวจข้อดีข้อเสียของตัวเองคืออะไร นอกจากนี้ การใช้ Social Media สมัยนี้ ก็ต้องใช้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการทำอะไรใน Social Media มันจะกลายเป็น Digital Footprint ของตัวเองไปตลอด ดังนั้นการจะทำอะไรต้องคิดให้ดีก่อนทำและให้รักตัวเองมากๆ
ฝน-ทัตชญา ศุภธัญสถิต หรือ ฝน MonsterFon กล่าวถึงคอนเซ็ปต์ในการ “รอด” ของตนว่า “ตนโชคดีเพราะได้เรียนในสิ่งที่ชอบ แต่ก็กังวลว่าจบแล้วจะทำงานอะไร เพราะสิ่งที่เรียนมาคือเรื่องศิลปะล้วนๆ เมื่อเรียนจบก็นำความชอบส่วนตัวในเรื่องดูหนัง ฟังเพลง มาใช้เป็นทักษะในการสมัครงาน และได้เริ่มทำงานกับ Channel [V] ซึ่งได้ทำอยู่นาน 7 ปีก่อนจะย้ายไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่อื่น งานที่ทำจะต้องพบเจอกับคนจำนวนมากและต้องรับฟังหลายๆ คน ทักษะที่ได้มาจากการฟังคนเยอะ ทำให้มีความเข้าใจ ไม่ได้ตัดสินใคร ทุกครั้งที่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น จะไม่มีอาการเกร็งต่อกัน ทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น”
สำหรับ Gen Z ที่จะมาทำงานด้วยนั้น “ฝน” บอกถึงเทคนิคการเลือกคนร่วมงานไว้ว่า ส่วนตัวเชื่อเรื่องการฝึกงาน เพราะมันเป็นเสมือนการคัดกรองอันดับหนึ่ง เพราะเป็นการทดลองเพื่อให้ได้รู้ว่างานนั้นเหมาะกับตนเองหรือไม่ โดยที่คนนั้นจะต้องมีทักษะที่รอบตัวแม้ว่าจะไม่ใช่ทักษะในตำแหน่งที่สมัครงานเข้ามา และคนสมัครงานเข้ามาควรมีความตั้งใจในการสมัครเข้ามา หลายๆ องค์กรต้องการคนที่จะพัฒนาได้มากกว่าคนเก่ง
เอแคลร์ จือปาก กล่าวถึงทักษะการรอดว่า “ตนเองคิดมาตลอดว่ามีโอกาสทำทุกอย่างแค่ครั้งเดียว ดังนั้นต้องทำทุกอย่างให้ดีเสมอกับทุกโอกาสที่มีเข้ามา ในเวลาเดียวกันก็ต้องฝึกทักษะต่างๆ ให้พร้อมเสมอที่จะนำมาใช้ในแต่ละสถานการณ์ เมื่อเราตัดสินใจที่จะ “รอด” ให้เป็น”
“เอแคลร์” บอกว่าตนเองเป็นคนที่ยืดหยุ่นได้ดีในทุกสถานการณ์ เพราะได้หมั่นฝึกฝนทุกทักษะมาตลอด และความยืดหยุ่นนี้ นำไปใช้กับงานทุกงานที่ได้รับมา นั่นคือสาเหตุที่ช่องยูทูปของเธอประสบความสำเร็จแม้จะเป็นช่องยูทูปเล็กๆ นอกจากนี้ ก็พร้อมที่จะลองและพร้อมที่จะทำในสิ่งใหม่ๆ รวมถึงเชื่อมั่นในตนเองว่าทำได้และทำได้ดี
หากต้องเลือกคนมาทำงานด้วย “เอแคลร์” บอกว่าอยากได้คนที่เคมีเดียวกัน มีความคิดความเชื่อเหมือนกัน ธรรมชาติของคนมาร่วมงานใหม่มักจะไม่กล้าลงมือทำอะไร “เอแคลร์” ก็จะปรับ mindset น้องๆ เสียใหม่ ย้ำให้เห็นว่าทุกคน “ทำได้” และต้องหาแรงบันดาลใจว่าทำทุกอย่างได้ จะได้มีแรงขับเคลื่อนในชีวิตต่อไป การเลือกคนร่วมงาน ส่วนตัวคิดว่าแค่มองสบตาหรือมองพฤติกรรมบางอย่าง ก็จะรู้ว่า คนๆ นี้มีทักษะการทำงานเก่งไหม ทำงานได้จริงไหม นอกจากนี้ การสมัครงาน หากสมัครตรงตามความชอบ จะมีรังสีแผ่ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่างานนี้เหมาะกับตนเอง นอกจากนี้ เยาวชน คน Gen Z มีคู่แข่งเยอะมาก จึงต้องใช้ทักษะที่มีอยู่รอบตัวเอามาปรับใช้กับการทำงานให้ได้
ด้าน วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา สรุปว่า “การเป็นตัวของตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันอาจจะขวางทางไปสู่ความสำเร็จในบางมิติ เชื่อว่าทุกคนต่างก็มีหนทางของตัวเองในการอยู่รอด ซึ่งไม่ใช่แต่เรื่องของ Gen Z แต่เป็นเรื่องของทุก Gen เพราะยุคนี้อยู๋ไม่ได้ง่าย แต่ทุกคนก็ต้อง “รอด” ให้ได้เพียงหาตัวเองให้เจอ”
สามารถติดตามความคืบหน้า และติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN และ Tiktok LEARNtoEARN